เริ่มแรก เรามาทำความรู้จักกับเจ้า "น้ำปูนใส" กันก่อนว่า คืออะไร....
น้ำปูนใส เป็นชื่อสามัญของสารละลายเจือจางของแคลเซียมไฮดรอกไซด์ (Ca(OH)2) น้ำปูนใสบริสุทธิ์จะใสไม่มีสี มีกลิ่นดินเล็กน้อยและมีรสขมแบบด่าง ชื่อภาษาอังกฤษคือ limewater ซึ่งมาจากไลม์ อนินทรีย์วัตถุของแคลเซียมที่มีคาร์บอเนต ออกไซด์ และไฮดรอกไซด์เป็นหลัก และไม่เกี่ยวข้องกับ lime ที่หมายถึงมะนาว
น้ำปูนใสเตรียมได้จากการผสมแคลเซียมไฮดรอกไซด์กับน้ำบริสุทธิ์ แล้วกรองส่วนแคลเซียมไฮดรอกไซด์ที่ไม่ละลายออก หากมีปริมาณแคลเซียมไฮดรอกไซด์ในน้ำปูนใสมากเกินจะทำให้มีสีขาวเหมือนนม เรียกว่า milk of lime ซึ่งเป็นสารละลายอิ่มตัวของน้ำปูนใส มีค่า pH 12.3 เป็นเบสในธรรมชาติ
อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ น้ำปูนใสคือการผสมของ น้ำสะอาด กับ ปูนแดง แล้วปล่อยให้ปูนแดงตกตะกอน เหลือแต่น้ำใส ๆ ที่อยู่ด้านบนจึงเรียกว่าน้ำปูนใส นั่นเอง ปูนแดงจริงๆ แล้วก็คือการผสมกันระหว่างปูนขาวกับขมิ้น ซึ่งทั้งสองอย่างเมื่อมาเจอกันก็จะเกิดปฏิกิริยา ทำให้ปูนเปลี่ยนเป็นสีออกแดงๆ ซึ่งปูนแดงก็สามารถหาซื้อได้ตามตลาดสดเลย
ส่วนผสม สำหรับทำน้ำปูนใส
➤ ปูนแดง 1 ช้อนโต๊ะ
➤ น้ำสะอาด 1 ลิตร
วิธีทำน้ำปูนใส
1. เตรียมน้ำสะอาด 1 ลิตร ในอ่างผสม
2. ตักปูนแดงใส่ลงไป แล้วคนให้ปูนละลายเข้ากับน้ำดี
3. กรอกน้ำปูนแดงใส่ขวด แล้วทิ้งไว้ค้างคืน 1 คืน หรือจนกว่าน้ำด้านบนจะใส
4. วันรุ่งขึ้น จะเห็นว่าน้ำด้านบนใส ด้านล่างจะมีปูนแดงตกตะกอนอยู่ และที่ด้านบนของน้ำ จะมีฝ้าขึ้น เรียกว่าน้ำปูนใส
5. ตักฝ้าบนหน้าน้ำออก แล้วสามารถนำน้ำปูนใสไปใช้ได้เลย
ประโยชน์ของน้ำปูนใส
1. ช่วยปรับปรุงเนื้อสัมผัสของอาหาร ไม่ว่าจะเป็นผัก แป้ง ขนม ของหวาน หรือเนื้อสัตว์ ให้มีความแข็งหรือความกรอบเพิ่มขึ้น โครงสร้างของอาหารยึดเกาะกันได้ดีขึ้น เนื้ออาหารไม่แฉะหรือติดมือ เช่นนำไปคลุกผสมกับแป้งสำหรับทอดอาหารเพื่อให้มีความกรอบมากขึ้น นำไปใช้แช่อาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ก่อนนำไปประกอบอาหาร ช่วยให้เนื้อสัมผัสมีความกรอบ และเหนียวมากขึ้น
2. ช่วยรักษาสภาพของเนื้อสัมผัสให้คงรูปอยู่เสมอ และป้องกันการเปื่อยยุ่ยของอาหารได้ เพราะแคลเซี่ยมอิออนจากสารละลายจะแทรกตัวอยู่ในเนื้อเยื่อของอาหาร และเข้าทำปฏิกิริยากับเพคตินในผนังเซลล์ของอาหารกลายเป็นแคลเซี่ยมเพคเทด ที่มีคุณสมบัติแข็งแรง โมเลกุลไม่ละลายนํ้า และไม่ยอมให้นํ้าผ่านเข้าได้ เช่นนำไปแช่ฟักทองก่อนนึ่งสำหรับทำบวดฟักทอง
3. เป็นแหล่งเพิ่มธาตุแคลเซียมให้แก่อาหาร เพราะเมื่อใช้น้ำปูนใสในการแช่หรือเติมในอาหาร จะมีธาตุแคลเซียมที่ละลายอยู่ในน้ำปูนใสผสมเข้ากับอาหารด้วย ช่วยลดความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน โรคข้อกระดูกเสื่อม และเสริมสร้างกระบวนการสร้างกระดูก เป็นต้น
4. การใช้นํ้าปูนใสในผลไม้หรือเนื้อสัตว์ ยังทำหน้าที่เป็นสารกันบูด ต้านการเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ และป้องกันอาหารบูดเน่าได้ และสามารถช่วยลดกลิ่นเหม็นหืน กลิ่นเหม็นบูดของอาหารได้
5. น้ำปูนใสที่ใช้ฉีดพรมผักหรือผลไม้ ช่วยในการยืดอายุของผักหรือผลไม้ได้ และการแช่ผักหรือผลไม้ด้วยน้ำปูนใส ความเป็นด่างของน้ำปูนใสจะช่วยล้างยาฆ่าแมลง และโลหะหนักที่ตกค้างได้
***************************